นิทรรศการชีวิตพิศวง (The Miracle of Life)

สถานที่จัดแสดง : ชั้น 7 อาคาร 4 ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง กรุงเทพฯ

Concept : ความพิศวงของประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของร่างกาย ได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นจุดเริ่มต้นในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวผ่านอวัยวะรับความรู้สึกคือ ตา ลิ้น จมูก หู และมือ (ผิวหนัง) นิทรรศการจัดแสดงโดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ทุกคนได้ทดสอบประสาทสัมผัสของร่างกายโดยนำเสนอผ่านเกมและเครื่องเล่นรูปแบบใหม่ที่หลากหลาย รอให้น้อง ๆ มาพิสูจน์ด้วยตัวเอง

โซนของการจัดแสดง 5 โซน ได้แก่

1. มือ (ผิวหนัง) – การได้สัมผัส

2. หู – การได้ยิน

3. ตา – การได้เห็น

4. จมูก – การได้กลิ่น

5. ลิ้น – การได้ลิ้มรส

โซนที่ 1 มือ (ผิวหนัง) – การได้สัมผัส

ผิวหนังเป็นอวัยวะของร่างกาย ที่มีความสามารถในการรับรู้ถึงผิวสัมผัส อุณหภูมิ และความเจ็บปวดมีกิจกรรมให้ลองเอาไม้ปลายแหลม 2 แท่ง จิ้มลงบนผิวหนัง เพื่ออธิบายว่าผิวหนังมีจุดรับสัมผัสกระจายอยู่ทั่วร่างกาย (ปัจจุบันงดให้บริการ) อีกหนึ่งกิจกรรมคือ ห้องปริศนา ที่ให้เราใช้แค่ประสาทสัมผัสเพื่อหาทางออก ภายในตกแต่งด้วยวัสดุที่มีผิวสัมผัสต่าง ๆ สร้างความพิศวงให้กับเหล่าผู้กล้าที่มาสัมผัสประสบการณ์ห้องมืดร่วมกันพิชิตปริศนาที่อยู่ภายใน

โซนที่ 2 หู – การได้ยิน

หูเป็นอวัยวะสำหรับรับเสียงของร่างกาย โดยรับคลื่นเสียงแล้วส่งผ่านระบบประสาท ไปประมวลผลที่สมองมีกิจกรรมให้ทดสอบการได้ยินเสียงที่คลื่นเสียงต่าง ๆ โดยมนุษย์ปกติจะได้ยินในพิสัยความถี่ 20-20,000 เฮิรตซ์ (Hz) สามารถทดสอบผ่านกิจกรรม หูใครเจ๋งสุด มาดูกันสิว่า หูเรามีความสามารถเทียบเท่ากับหูของสัตว์ชนิดใด นอกจากนั้นยังมีกิจกรรม อย่าคุยกันเวลาครูสอน หากต้องพูดข้อความอย่างหนึ่งแล้วรับฟังข้อความอีกอย่างหนึ่ง พร้อม ๆ กัน เราจะสามารถรับข้อความมาถ่ายทอดได้ถูกต้องหรือไม่ เมื่อสมาธิและทักษะการฟังถูกท้าทายใครบอกได้บ้างว่าเฮียกี่พูดว่าอะไร

โซนที่ 3 ตา – การได้เห็น

ดวงตาเป็นอวัยวะที่ใช้สำหรับรับภาพในการมองเห็น โดยการมองเห็นของมนุษย์เกิดจากความสัมพันธ์ของดวงตากับสมองและการแปลความหมายที่สมองเพื่อวิเคราะห์ออกมาเป็นภาพมีการจัดแสดงภาพลวงตาแบบต่าง ๆ ที่หลอกตาให้มองเห็นและรับรู้ผิดไปจากความเป็นจริง ซึ่งทำให้สายตารับรู้รูปทรง ขนาด และสีผิดไปจากเดิม เพราะฉะนั้น อย่าเพิ่งเชื่อในสิ่งที่เห็น…เรามาดูสิว่าดวงตาและสมองของเราเล่นตลกกับเราได้อย่างไม่น่าเชื่อ! และกล้องกับดวงตามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร อีกหนึ่งกิจกรรมคือ บ้านลวงตา มาร่วมกันไขปริศนา สรุปว่าฉันตัวโต…หรือเธอตัวเล็กกันแน่นะ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรม นักย่องเบา ที่นำเรื่องของการรับรู้ทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 มาสร้างเป็นเกมให้ประลองความสามารถย่องเบา โดยเซ็นเซอร์จะไม่สามารถจับได้ ถ้าใครสามารถเดินได้เบาที่สุดบนพื้นหิน มาร่วมประลองฝีมือการ “ย่อง” ดูสิว่าใครจะมีการทักษะการย่องได้เบาที่สุด

โซนที่ 4 จมูก – การได้กลิ่น

จมูกเป็นอวัยวะที่ใช้รับกลิ่นของร่างกาย โดยส่งสัญญาณทางเซลล์ประสาทไปที่สมอง เพื่อแปลผลว่ากลิ่นที่ได้รับเป็นกลิ่นอะไร ความสามารถในการรับกลิ่นนี้ช่วยป้องกันเราจากอันตราย จากความทรงจำของกลิ่น เช่น กลิ่นควัน กลิ่นอาหารบูด กิจกรรมในโซนนี้เป็นเรื่องของการรับกลิ่น โดยให้ลองดมกลิ่นแล้วทางว่าเป็นกลิ่นอะไร อีกหนึ่งกิจกรรมคือ แม่ขากาแฟสีฟ้าได้ไหม? โดยจัดแสดงน้ำสีต่าง ๆ ที่มีกลิ่นแตกต่างกัน ไม่ตรงกับสีและกลิ่นที่คุ้นเคย ซึ่งการได้กลิ่นสามารถกระตุ้นความทรงจำที่เราเคยจดจำหรือประสบการณ์ที่เคยเห็นว่ากาแฟมีสีน้ำตาล ดังนั้นเมื่อเราเห็นน้ำสีฟ้าจึงทำให้เรานึกถึงกลิ่นที่เป็นความทรงจำที่คุ้นเคยที่ไม่ใช่กลิ่นของกาแฟ

โซนที่ 5 ลิ้น – การได้ลิ้มรส

ลิ้นเป็นอวัยวะที่ใช้ในการรับรสชาติ โดยมีตุ่มรับรส (taste bud) ของรสหลัก ๆ 5 รสคือ หวาน ขม เปรี้ยว เค็ม และอูมามิ (รสกลมกล่อม) กระจายตัวอยู่บนลิ้น มีกิจกรรมบนแท่นหมุนเพื่อให้ความรู้เรื่องการรับรสต่างๆ ที่เกิดจากสารเคมีในอาหาร เช่น สารที่เป็นกรดทำให้รับรสเปรี้ยว เป็นต้น

อีกทั้งยังมีกิจกรรมที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ร่วมกัน นั่นก็คือ กิจกรรม ประสาทสัมพันธ์ ที่ในชีวิตประจำวัน เราต้องใช้ประสาทสัมผัส ทั้ง 5 ประกอบกันทายกันซิว่า คนและสัตว์ในแต่ละภาพต้องใช้ประสาทสัมผัสใดบ้าง

นอกจากนี้ภายในนิทรรศการยังมีกิจกรรม ห้องสัมผัสที่ 6 ที่แสดงถึงความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับพระภูมิเจ้าที่ ซึ่งเป็นการรับรู้ทางจิตใจหรือความคิดที่นอกเหนือจากการรับสัมผัสทั้ง 5 มาร่วมกันทดสอบดูสิว่า จิตใจของคุณจะแข็งแกร่งมากเพียงใด