เครื่องฉายดาว ZEISS Mark IV (มาร์ค โฟร์)

ในปี พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรี ซึ่งมี ม.ล.ปิ่น มาลากุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในขณะนั้น ได้อนุมัติให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินการสร้างท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ และหอดูดาว ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการศึกษาวิชาภูมิศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และดาราศาสตร์ ตลอดจนเป็นแหล่งที่เยาวชนสามารถไปชุมนุมหาความรู้ได้ง่าย เยาวชนจะได้เรียนจากของจำลองเหมือนของจริงทำให้เข้าใจได้ลึกซึ้งและรวดเร็วกว่าการสอนด้วยปากเปล่าทั้งก่อให้เกิดความรู้ ความคิด ความมีเหตุผลและความเพลิดเพลิน ด้วยกระทรวงศึกษาธิการได้มอบให้กองอุปกรณ์การศึกษา กรมวิชาการเป็นเจ้าของในการก่อสร้างและดำเนินการต่อไป

คณะรัฐบาลได้อนุมัติให้ดำเนินการ ก่อสร้างเมื่อ วันที่ 30 มกราคม พ.ศ.2504 โดยมีห้างบีกริม แอนโก กรุงเทพ จำกัด และตัวแทน บริษัท คาร์ลไซซ์ ในสหพันธรัฐเยอรมันเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างพร้อมติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ จนเรียบร้อย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดอาคารท้องฟ้าจำลองกรุงเทพเมื่อวันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2507

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิด อาคารท้องฟ้าจำลองกรุงเทพและทอดพระเนตรการแสดงทางท้องฟ้า วันที่ 18 สิงหาคม 2507 ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เปิดแสดงให้บริการแก่ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 19 สิงหาคม 2507 เป็นต้นมา

ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการด้านเทคนิคว่า เครื่องฉายดาวระบบกลไกมอเตอร์และเลนส์ (Opto mechanical)

1. บริษัทผู้ผลิต Carl Zeiss Co., Ltd. ประเทศเยอรมนี

2. ชื่อรุ่น เครื่องฉายดาว ZEISS Mark IV (มาร์ค โฟร์)

ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ใช้ไซซ์ส รุ่นที่ 4 ซึ่งประกอบด้วยระบบเครื่องกล ระบบไฟฟ้า และระบบแสงที่ประณีตซับซ้อน สามารถแสดงภาพดวงดาวบนท้องฟ้าของประเทศใดก็ตาม ตามวันและเวลาที่ต้องการ โดยมีความสามารถฉายดาวฤกษ์ได้ 9,000 ดวง, ฉายดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ 5 ดวง เคลื่อนผ่านกลุ่มดาวต่างๆ, ฉายภาพกลุ่มดาว ทางช้างเผือก กระจุกดาว ดาวหาง ดาวตก เมฆ แสงรุ่งอรุณ แสงสนธยา, แสดงการเกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา เส้นศูนย์สูตร เส้นสุริยวิถี เส้นเมอริเดียน ระบบสุริยะ และโลกหมุนรอบตัวเอง